วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ครูและผู้บริหารไม่ชอบอ่าน=เด็กไม่ชอบไม่รักการอ่านด้วย

สวัสดีทศวรรษการอ่านแห่งชาติ

การอ่านโดยความหมายที่จะพัฒนาความรู้ ความคิด และจินตนาการของผู้เรียน มี ๒ ลักษณะ

๑) อ่านออกและเขียนได้
หมายถึงรู้จักหลักภาษาหรือหลักไวยากรณ์ภาษา
คือ รู้อักษรทั้ง ๓ แบบ คือ รู้พยัญชนะ รู้สระ และรู้วรรณยกต์
รู้การประสมอักษร

จากนั้นคือรู้ออกเสียงถูกต้อง และรู้ความหมายของคำ
อันว่าความหมายของคำนั้น มี ๒ ระดับเป็นอย่างน้อย คือ
(๑) ความหมายโดยตรง เช่น กิน คือ การรับอาหารเข้าไปในปาก เคี้ยวแล้วกลืน แต่บางคนก็ไม่เคี้ยว หลึดเลย พะนะ! หลึดเลย
(๒) ความหมายแฝง/ความหมายโดยนัย เช่น กิน หมายถึง การ
ทุจริตฉ้อฉลเงินหลวง ซึ่งการวิเคราะห์ความหมายแฝงนี้ ต้องดูบริบทของคำประกอบด้วย

การอ่านออกและเขียนได้นี้ เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การอ่านเพื่อการเรียนรู้และรับรู้สหวิทยาการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

๒) อ่านเพื่อพัฒนาความคิด
การอ่านในลักษณะนี้ เป็นการอ่านเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เห็นและเข้าใจสารัตถะของภาษาและถ้อยคำในรูปแบบการเขียนชนิดต่าง ๆ เช่นนิทาน สารคดี เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์ และข้อเขียนประเภทอื่น

การอ่านแบบที่ ๒) นี้ นอกจากผู้อ่านจะมีความเข้าใจในเรื่องไวยากรณ์ภาษา คือ รู้เสียง รู้คำ และรู้ความหมายโดยตรงของคำและความหมายแฝงของคำแล้ว
เป็นการอ่านเพื่อพัฒนารสนิยม ความคิดและจินตนาการ เป็นการอ่านเพื่อสร้างฐานทางปัญญา ให้รู้จักแยกแยะระหว่างความดี ความงามและความจริง รู้จักคุณค่าของตัวเอง ธรรมชาติ และสัจธรรมบางประการ โดยเฉพาะการเข้าใจในคุณค่ามนุษย์ ฯลฯ

ดังนั้น หนังสือที่จะใช้อ่านเพื่อพัฒนาความรู้และยกระดับความคิดในนัยที่ว่านี้จึงต้องเป็นหนังสือที่ดี

หนังสือที่ดี หมายความว่า
(๑) ต้องแต่งดี คือมีรูปแบบการเขียนที่ดี จะเป็นงานเขียนร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ตาม แต่งดีหมายถึงมีการใช้คำที่สื่อความดี ไม่ว่าจะมองโดยความหมายตรงหรือความหมายแฝงเร้นก็ตาม คือใช้คำอย่างอลังการ หรือเรียกว่า มีสุนทรียรสในการใช้คำ หนังสือดี
(๒) ต้องมีเนื้อหาดี คือยกระดับสติปัญญา และสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในตัวเอง และมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น เนื้อหาที่ดีเปรียบได้ดังโคมไฟที่ส่องทางไปข้างหน้าให้ผู้อ่านบรรลุไปสู่จุดหมายปลายทางของความรู้สึกนึกคิดอย่างงดงามและสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อย่างง่ายงาม

พูดสั้น ๆ ว่า หนังสือดีคือมีความเข้มข้นและกลมกลืนกันทั้งรูปแบบการเขียน (การใช้คำ) เนื้อหา (ความหมาย) เรียกว่า มีความอลังการศาสตร์ของปรัชญาตะวันออก และหลักสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics Theory) ของชาวตะวันตก

.................................................................................
ผู้เขียนพูดมายืดยาวเช่นนี้ หาได้มีความคิดที่จะอวดรู้หรือสอนหนังสือสังฆราชแต่ประการใดไม่ แต่อยากพูดถึงปัญหาสำคัญหลาย ๆ ประการในการส่งเสริมการอ่านของบ้านเราในโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาของเรา คือ :

๑) มีความเข้าใจสับสนหรือไม่ระหว่าง (ก) การอ่านออกและเขียนได้ กับ (ข) การอ่านเพื่อพัฒนาความรู้และความคิด

การอ่านตามความหมายในข้อ ก อาจใช้หนังสือเรียนเป็นหลัก แต่การอ่านตามข้อ (ข) อาจใช้หนังสืออ่านประกอบประเภทวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ การอ่านตามความหมายใยข้อ (ก) อาจใช้หนังสือเรียนเป็นหลัก แต่การอ่านตามข้อ (ข) อาจใช้หนังสืออ่านประกอบประเภทวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์

๒) ถ้ามีความเข้าใจผิดเพี้ยนสับสน เพราะไม่สนใจ ไม่ใส่ใจศึกษา ตามข้อ (ก) ถามว่า ใครคือผู้ที่สับสนตามนั้น ระหว่างครูกับผู้บริหาร และรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน!

๓) ถามต่ออีกว่า จริงหรือไม่ ที่การจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ไม่ได้สนใจประเด็นดังกล่าวตามข้อ ๒) ทั้งนี้เพราะครูห้องสมุดก็ไม่ได้สนใจในวิชาความรู้เรื่องหนังสือดีและหนังสือด้อย

๔) ถ้าข้อ ๓) เป็นจริง ผู้เขียนขอถามต่อว่า จริงหรือไม่ที่งบประมาณซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดแต่ละปี ครูและผู้บริหารไม่ได้สนใจว่า หนังสือที่ได้มานั้น มีสาระประโยชน์แค่ไหน อย่างไร เพราะส่วนมากก็ล็อกสเป็กกันมาตั้งแต่เขตพื้นที่การศึกษา

๕) ดังนั้น จริงหรือไม่ว่า ทั้งข้อ ๑) - ๔) นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการส่งเสริมการอ่าน และอาจจะพูดได้ว่า :

(ก) ครูและผู้บริหารไม่สนใจที่จะเลือกซื้อหนังสือดี ๆ อย่างจริงจัง เพราะไม่ใส่ใจอ่านหนังสือ และสนใจแต่ผลประโยชน์และตำแหน่งขีดขั้นส่วนตนจนเคยตัว

(ข) ครูและผู้บริหารไม่สนใจที่จะสร้างบรรยากาศส่งเสริม กระตุ้นให้เด็กรู้จักหนังสือ รักหนังสือ และรักการอ่าน ตามลำดับกระบวนการที่พึงมีและพึงกระทำ เพราะลูกของครูและลูกผู้บริหารไม่ได้เรียนที่โรงเรียนที่ตัวเองสอน แต่ส่งไปเรียนในเมืองหรือโรงเรียนสาธิต

ค) จริงหรือไม่ที่ ๒๐ - ๓๐ ปีมานี้ โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่ได้ใส่ใจจริงจังในการสร้างเสริมประสบการณ์ด้านการอ่านให้เด็ก ๆ ปล่อยตามบุญตามกรรม

เรมีแต่พูดและพูดกันในห้องประชุมและพูดไว้ในกระดาษอันเงียบเชียบและว่างเปล่า แต่เราไม่เคยใส่ใจที่จะทำ

มีคำกล่าวว่า "การอ่านเป็นเรื่องยาก แต่การมีชีวิตอยู่โดยไม่อ่านเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า"

น่าเสียดายที่ประเทศของเรา กระทรวงศึกษาธิการของเรา รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตำแหน่งใหญ่โต ไม่เคยใส่ใจกับคุณภาพของหนังสือที่ถูกมือแห่งผลประโยชน์จับยัด ๆ เข้ามาในห้องสมุด น่าเสียดายที่โรงเรียนของเราไม่ใส่ใขและไม่สนใจวิชาความรู้เกี่ยวกับหนังสือดี ๆ เพื่อเด็ก ๆ และน่าเสียดายยิ่งนักที่เด็ก ๆ ไม่มีหนังสือดี ๆ อ่าน แม้ว่าเราจะมีเงินงบประมาณมากพอในระดับหนึ่งก็ตาม

ครูและผู้บริหารสนใจสิ่งอื่น ๆ ไม่ได้สนใจการเรียนรู้และพัฒนาความคิดของเด็ก ๆ ผ่านการอ่านอย่างซาบซึ้งกับหนังสือดี

จากอดีตถึงปัจจุบันนั้น เราคงเห็นผลร้ายของการจัดการศึกษาที่ขาดปรัชญาในการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง

อนาคตก็เช่นกัน การไม่อ่านหนังสือ เพราะครูและผู้บริหาร รวมทั้งผู้ใหญ่ที่คิดสั้น ๆ คิดแคบและคิดเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าและพวกพ้อง มัวแก่งแย่งแข่งขันขดขั้นตำแหน่ง อคติต่อความดีงามและอุดมคติของผู้อื่นอยู่ ทำให้เด็ก ๆ สูญเสียโอกาส

บางที ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า คนที่ขาดการสะสมสติปัญญาจากการอ่านอย่างรุนแรงนั้น เขาจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
ในเมื่อเขาขาดแง่มุมทัศนะทางสุนทรียภาพในความคิด ขาดมุมมองและขาดความลึกซึ้งทางความคิดต่อปรากฏการณ์ทางสังคม

การอ่านหนังสือที่ดีนั้น ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นความคิดที่ดีได้ด้วยหัวใจ ทำให้มีมุมคิดที่เข้มข้นและแหลมคมได้ ความเข้มแข็ง ความมีรสนิยมและความเชื่อศรัทธาที่ดีต่อสิ่งต่าง ๆ ล้วนก่อกำเนิดมาจากการอ่านที่ยาวนานทั้งนั้น

เราจะมีความหวังที่จะเห็นสังคมสงบสุข มีพลังทางปัญญาสร้างสรรค์ได้อย่างไร ในเมื่อสถานศึกษาหรือโรงเรียน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานบ่มเพาะคนดี ชีทางดี โดยครูบาอาจารย์และผู้บริหาร ไม่ได้สนใจการอ่านของเด็ก ๆ อย่างจริงจังและจริงใจมากนัก

เราไม่รู้จักหนังสือ เราไม่เคยหยิบยกหนังสือมาแนะนำกับเด็กแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะอยู่ในรายวืชาใดก็ตาม เรามัวแต่สอนวิชาความรู้แบบท่องจำ แต่เราไม่สนใจวิชาความรู้แบบวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ เราไม่อ่านแม้แต่น้อย

ดังนั้น เด็ก ๆ ก็จึงไม่อ่านหนังสือกัน เพราะครูอาจารย์และผู้บริหารก็ไม่อ่านหนังสือ!


(คัดลอกจากข้อเขียนประกอบการอภิปรายของ
อาจารย์ชัชวาลย์ โคตรสงคราม เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๑
ที่ค่ายเยาวชนส่งเสริมการอ่านและเขียน จังหวัดศรีษะเกษ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น