วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

การบริหารแบบมีส่วนร่วม

‏การบริหารแบบมีส่วนร่วม
การบริหารแบบมีส่วนร่วม หมายถึง การที่บุคคลในองค์กรหรือต่างองค์กรได้ร่วมกันเพื่อจัดการงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมนั้น จะอยู่ในขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม โดยขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ข้อจำกัดขององค์กรในแต่ละกระบวนการของการดำเนินการบริหารเป็นเกณฑ์

บุคคลในการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารงานหรือการจัดการงาน สามารถที่จะแยกได้กว้าง ๆ คือ
- ภายในองค์กรจะประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชา (ผู้บริหารระดับสูง) ผู้บริหารระดับกลาง (กลุ่มงานต่าง ๆ) และผู้ปฏิบัติ (คนงาน ผู้ทำงานระดับล่าง) สายสัมพันธ์ของบุคคลในองค์กรจะเป็นไป ตามลักษณะบังคับบัญชาตามลำดับ โดยทั่วไปขององค์กรแล้วจะมีข้อกำหนดไว้เป็นแนวทางอย่างชัดเจน ซึ่งทุกระดับต้องปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเสมอ การมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการในองค์กรจึงเป็นในทิศทางเพื่อการปรับปรุง พัฒนา หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบ ความจำเป็นของการมีส่วนร่วมอาจไม่ทั้งหมดของบุคคลในทุกระดับ อาจเฉพาะเพียงแต่ในระดับเดียวกันเท่านั้น หรือเหนือขึ้นไปในระดับหนึ่งก็เป็นไปได้ ลักษณะการมีส่วนร่วมของการจัดการหรือบริหารภายในองค์กรมีรูปแบบต่าง ๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม รูปแบบเบื้องต้นก็คือการเสนอเช่นข้อคิดเห็นเป็นเอกสาร ผ่านกระบวนการสอบถามหรือโดยส่งเอกสาร
- ต่างองค์กรจะประกอบด้วยในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่จัดกระทำในระดับผู้บริหารระดับสูง การมีส่วนร่วมจะเป็นในรูปของการให้ความเห็นข้อคิด แลกเปลี่ยนหรือสนับสนุนเพื่อการจัดการ หรือระดับผู้ปฎิบัติก็เป็นในทิศทางของการจัดการร่วมกันในกิจกรรมอย่างเดียวกัน ทั้งนี้โดยผลประโยชน์ขององค์กรทั้งสองต้องไม่ขัดแย้งหรือมีการสูญเสียผลประโยชน์ต่อกันในรูปใด ๆ
ในการมีส่วนร่วมของบุคคลในระบบราชการจะเห็นได้ว่ามีในหลายลักษณะเช่นเดียวกับรูปของ องค์กรในปัจจุบัน กรณี ภารกิจการดำเนินการของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องมีบทบาทและหน้าที่สัมพันธ์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลในสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดต้องเป็นผู้มีภารกิจหน้าที่เพื่อการสำรวจออกแบบประมาณการต่องานขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือ (อบต.) เพื่อโครงการถ่ายโอนกิจกรรมบริการสาธารณะต่าง ๆ การก่อให้เกิดความมีส่วนร่วมของบุคคลในท้องถิ่น จะเป็นผลให้การปฏิบัติงานตามภารกิจบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ กลไกต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ต้อง ดำเนินการอย่างมาก

ความสำคัญของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม เป็นเหตุผลที่จำเป็นต่อการบริหารหรือการจัดการองค์กร คือ
1) ก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงานที่มุ่งหวัง
2) กระบวนการตัดสินใจสามารถรองรับพฤติกรรมของบุคคลในองค์กรได้กว้างขวางและเกิดการยอมรับได้
3) เป็นหลักการของการบริหารที่เป็นผลต่อการดำเนินการเชิงวิเคราะห์ด้วยเหตุผลวิวัฒนาการเพื่อความคิด (การเปิดกว้าง) การระดมความคิด (ระดมสมอง) ซึ่งนำไปสู่ การตัดสินใจได้
4) ลดช่องว่างของระบบการสื่อสารในองค์กรและขจัดปัญหาความขัดแย้งได้

การมีส่วนร่วมของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในองค์กรของการปฏิบัติงานใด ๆ จะปรากฏบุคคลในระดับต่าง ๆ ปฏิบัติงานเพื่อการนั้น ๆ โดยสังเขป อาทิ ผู้นำองค์กร (ผู้บริหารระดับสูง) ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน , ผู้จัดการ หรือประธานกรรมการ- บริษัท ฯลฯ ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ผู้ช่วยผู้จัดการ , กรรมการบริหาร ฯลฯ ผู้บริหารระดับต้น อาทิ หัวหน้างาน , วิศวกรโครงการ หัวหน้าโครงการ ฯลฯ ผู้ปฏิบัติงาน อาทิ ธุรการ , การเงินฯ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ อาทิ ภารโรง , คนงาน ฯลฯ และประชาชนที่อาจเกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ
การปฏิบัติงานขององค์กรโดยทั่วไปจะเป็นไปโดยการแบ่งแยกหน้าที่มีการงานแต่ละแผนก ฝ่าย กอง หรือ หน่วยงานตามคำสั่งมอบหมายหน้าที่การงาน หรือแผนภูมิรูปแบบการจัดองค์กรของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีแยกต่างกันทั้งราชการหรือเอกชน การปฏิบัติงานเชิงคำสั่งหรือแผนภูมิเหล่านั้นเป็นลักษณะของการสั่งการ จะเป็นทั้งรูปแบบประสานจากเบื้องบนลงล่าง หรือจากเบื้องล่างสู่บน หรือในระดับเดียวกันได้เสมอ พฤติกรรมการปฏิบัติลักษณะแนวสั่งการนี้เป็นเรื่องปกติ โดยมีพื้นฐานจากหลักองค์กรที่ได้วางไว้ การพัฒนาหรือการประสบความล้มเหลวหรือการประสบความสำเร็จของงานในองค์กรเป็นสิ่งที่สามารถมองออกและมองได้ โดยการทำงานเชิงบุคคลเป็นสำคัญ แนวเปลี่ยนผ่านซึ่งความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยการเสนอความคิด และร่วมกระทำ กระทำได้แต่ไม่สอดรับเท่าที่ควร การจัดกระทำเพื่อองค์กรให้มีการพัฒนาและเร่งรัดจะต้องก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม




องค์กรที่มีส่วนร่วมต่อกันของบุคคลหรือคนในองค์กรมีข้อโยงยึดถือความคิดเห็นในทิศทางของ

1) ลักษณะของปัญหาหรือความต้องการที่จะแก้ไขหรือตัดสินใจ บนพื้นฐานของบุคคลที่รับรู้
2) การเรียนรู้ว่าสิ่งที่เป็นความต้องการเพื่อแก้ไขหรือข้อมูลของปัญหามีที่มาและอยู่ในทิศทางใด
3) การนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเหตุและผลซึ่งเป็นการระดมจากความคิดบุคคล เอกสาร หรือข้อเสนอหรือข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
4) การประเมินผลลัพธ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรมีข้อจำกัดหรือมีความเสี่ยงอย่างไร และ
5) การตัดสินใจของผู้บริหาร การหาทางเลือกในการตัดสินใจ เหตุผลของการตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ได้

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องมาจากความคิดในบุคคลทุกระดับร่วมกันเสนอหรือให้ข้อมูลหรือวินิจฉัยเป็นมูลฐาน

แนวทางการสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วม
ในการบริหารงานขององค์กรใด ๆ นั้น มีรูปแบบอยู่หลายสถานะ สิ่งที่จะส่งผลต่อการเกิดบรรยากาศเพื่อทุกคนและยังไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายที่ต้องการนั้น มีความจำเป็นในทิศทางของการสร้างและสนับสนุน คือ
การพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการที่บุคคลในฐานะต่าง ๆ ต้องก่อความรู้สึกและสร้างแรงกระตุ้นต่อบุคคลอื่น ๆ ให้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ บนพื้นฐานแห่งความที่บุคคลมีความมั่นใจว่าเหตุและผลทางความคิดจะได้รับการสนับสนุน
การริเริ่มลักษณะแห่งพฤติกรรมบุคคล เป็นข้อคิดแห่งการสร้างรูปลักษณ์ของการแสดงออกของบุคคล ลดและขจัดปมความคิดแย้งหรือความขลาดกลัวจากพฤติกรรมบุคคลให้ลดน้อย สร้างความกล้าต่อการแสดงออก
การเปิดโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยน ย่อมเป็นผลดีต่อกลุ่มและบุคคลได้ในระดับกระทำ เพราะโอกาสเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใด ๆ หรือประสบการณ์มักถูกปิดกั้นด้วยคำสั่งหรือความคิดเบื้องบน การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนย่อมส่งผลต่อเหตุและผลในการพัฒนาความคิดต่าง ๆ ได้
การสนับสนุนแนวความคิดที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ ซึ่งการสนับสนุนแนวคิดเหล่านั้นสามารถดำเนินการในทิศทางของงบประมาณหรืออื่นใดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลแห่งการสร้างสถานะบุคคลให้ไว้วางใจองค์กรให้ความร่วมมือต่อองค์กรได้มาก
สถานการณ์เพื่อการบริหารหรือจัดการ ผู้บริหารต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในการจัดการงานด้วยเสมอ เพื่อผลสูงสุด การเลือกแบบการบริหารใด ๆ ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วมได้ ปัจจุบันการบริหารส่วนใหญ่ มุ่งแบบการมีส่วนร่วมเพราะเป็นการเปิดโอกาสแห่งบรรยากาศการริเริ่มสร้างสรรค์
การมองหาความคิดเฉพาะในส่วนที่ดี เป็นมุมมองของการบริหารที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ว่าเมื่อบุคคลใดเสนอแนวคิดเพื่องานแล้วควรได้เห็นความเหมาะสมและทิศทางการเสนอของบุคคลอื่น ๆ ด้วยดี มิใช่มุ่งแนวทางเพื่อความขัดแย้งหรือสร้างฐานการไม่ยอมรับให้เกิดขึ้น
จูงใจให้เกิดการสร้างกระบวนการความคิดให้เกิดในทุกกลุ่มงาน การสร้างแรงจูงใจย่อมเป็นผลต่อบุคคลที่ก้าวมาสู่การต้องการมีส่วนร่วมเสมอหากผลตอบแทนเหล่านี้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อตน ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับปฏิกิริยาของบุคคลโดยรวมขององค์กรด้วยว่าจะทำให้ได้เพียงใด


ขั้นของความสำเร็จที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมและบุคคลยอมรับ อาจได้แก่


- การเรียนรู้ในกิจกรรมของตนหรือหน้าที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นผลต่อความรู้สึกในการอยากรู้ อยากเข้าใจ และอยากเข้าไปมีส่วนร่วม (เป็นการทำการบ้านเพื่อตนเอง)
- สไตล์การทำงานของแต่ละบุคคล เป็นโอกาสของการเลือกเพื่อให้ตนเองก้าวต่อไปหรือได้รับการสนับสนุน
- ความมีอารมณ์ที่มั่นคง
- การยอมรับจุดอ่อนของตนเอง หรือความบกพร่องต่าง ๆ ของตนเอง
- รู้ตนเอง (จุดแข็งที่มีอยู่หรือศักยภาพของตนเอง)
- มีความคิดเห็นในเชิงทะเยอทะยาน โดยเป้าหมายเป็นจุดน่าทดลองเสี่ยงเพื่อความสำเร็จในงานของตนเอง
- สร้างข่ายงานได้ โดยมีการพึ่งพาต่อกัน ทั้งเพื่อน , ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา
- เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มว่ามีขั้นตอนอย่างไร
- เรียนรู้ที่จะเงียบ และ
- ถือสัตย์ เป็นแบบแผนการทำงาน

คุณสมบัติของบุคคลเพื่อการมีส่วนร่วม
1. หาแนวคิดและวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเสมอตลอดเวลา
2. แสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเอง
3. รู้จักใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
4. วางแผนไว้ล่วงหน้าโดยมีระยะเวลา
5. มีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ
6. เป็นสมาชิกที่ดีและเป็นผู้นำที่ดีด้วย
7. สร้างแรงกระตุ้นต่อตนเองและรู้ว่าอะไรคือแรงจูงใจ
8. รู้งานทุกส่วนและหน้าที่อย่างดี
9. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
10. สำนึกถึงการสูญเปล่าและรู้ต้นทุน
11. แสวงหาแรงจูงใจที่ไม่มีเงินเกี่ยวข้อง
12. ปรับและรับฟังความคิดเห็นได้ในทุกระดับ
13. สนใจงานที่ทำแทนการพยายามหางานทำที่สนใจ
14. มีความสม่ำเสมอ
15. เชื่อว่าการทำงานเป็นผลให้ฉลาดและไม่เป็นเรื่องหนักงาน
16. ไม่บ่น
17. ทำงานได้ดีกว่ามาตรฐาน
18. นิสัยในการทำงานที่ดี
19. เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและทันสมัย
20. มีประวัติดีและก่อผลงานสม่ำเสมอ


ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคคลในองค์กร สิ่งที่มีผลต่อการก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุด คือ แรงจูงใจ และภาวะของบุคคล (ผู้นำ)

แรงจูงใจ คือ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดการกระทำของพลังในบุคคลส่งผลต่อการแสดง
ซึ่งพฤติกรรมและวิธีการในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักที่ต้องการ เพราะแรงจูงใจมีผลต่อกระบวนการทำงานของคนในทิศทางแห่งประสิทธิภาพและสัมฤทธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ลักษณะของแรงจูงใจจะแสดงออกได้โดยลักษณะพฤติกรรมซึ่งมีหลายทิศทางขึ้นอยู่กับบุคคล และ ขึ้นกับธรรมชาติแห่งความต้องการของบุคคลด้วย ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเป็นไปตามความปรารถนา ความคาดหวัง และจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ของตนเอง
ความสำคัญของแรงจูงใจต่อกระบวนการมีส่วนร่วม มีคำกล่าวว่า “ผู้บริหารที่ดี คือ ผู้ที่สามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยผู้ร่วมงาน” หมายถึง การที่องค์กรหรือผู้บริหารขององค์กรต้องให้ความสำคัญ และนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ ของงาน เพื่อส่งผลให้
1) การร่วมมือร่วมใจเพื่องาน
2) ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์กร
3) เกื้อหนุนให้เกิดระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อผลในการกำกับควบคุมคนในองค์กร
4) การเกิดความสามัคคีในองค์กรหรือกลุ่ม
5) เข้าใจต่อนโยบายและวัตถุประสงค์ร่วมกันของบุคคลในองค์กร
6) สร้างความคิดใหม่เพื่อองค์กร
7) มีศรัทธาความเชื่อมั่นต่อตนเองและกลุ่ม

ภาวะผู้นำ มีผลต่อการมีส่วนร่วมขององค์กรหรือบุคคลในองค์กร ในทิศทางของกระบวนการตัดสินใจ เพราะการมีแรงจูงใจให้ปฏิบัติหรือการมีส่วนร่วมให้ปฏิบัติใด ๆ หากกระบวนการตัดสินใจไม่เป็นผลแล้ว ยังส่งผลต่อการที่ไม่บรรลุความสำเร็จได้ การตัดสินใจในระดับผู้นำขึ้นอยู่กับ
- ความเชี่ยวชาญ คือการย่อมรับและให้ความร่วมมือ
- ความดึงดูดใจ คือเหตุผลทางอารมณ์และอิทธิพลซึ่งเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว


ปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
สิ่งที่ไม่เป็นผลต่อความสำเร็จของการบริหารงานการมีส่วนร่วม คือ
1) ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม
2) พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม
3) ผู้นำมีปัญหา

ลักษณะการสื่อสารในองค์การและระหว่างบุคคลไม่เหมาะสม ลักษณะทั่วไปของสื่อที่ไม่เหมาะสมจะเกิดจาก
1) การมีข้อมูลหรือการมีคำสั่งที่ถ่ายทอดไม่ชัดเจน เป็นผลให้ผู้รับฟังข้อมูลหรือได้รับคำสั่ง ขาดความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจทำให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ไม่ดี
2) การรับข่าวสารหรือข้อมูลเอกสาร ต้องมีการตีความ ทำให้การปฏิบัติเป็นข้อโต้แย้งหรือถกเถียง ผลของการโต้แย้งหรือถกเถียง ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจได้ดีทำให้ความร่วมมือลดลงหรือขาดหายไป
3) มีผู้ก่อกวน อาจเป็นตัวเอกสารที่มีการสั่งการขัดกันเองหรือมีผู้ปฏิบัติที่มีปฏิกริยาขัดแย้งชี้นำการปฏิบัติ ผลคือการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ลดบทบาทความร่วมมือไป
4) ทิศทางการสื่อสารของบุคคลในองค์กร ซึ่งจะมีการสื่อต่อกันได้ทั้งในแนวบนลงล่าง จากล่างขึ้นบนหรือในแนวระดับเดียวกัน การสื่อสารแต่ละแนวย่อมส่งผลต่อการสั่งการ การตัดสินใจ หากกลุ่มบุคคลของแต่ละแนวมีแนวคิดแตกต่างกัน

พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคลไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เหตุที่พฤติกรรมหรือแรงจูงใจต่อบุคคล ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม จะเกิดจากการที่
1) การใช้ทฤษฎีแรงจูงใจในการจัดกระทำไม่ถูกต้อง อาทิ การนำเอาความพอใจเป็นหลัก หรือการนำเอาความต้องการของมนุษย์เป็นหลักมาใช้ในกรอบแนวคิดการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งอาจ ส่งผลต่อการโต้แย้งหรือไม่พอใจเกิดขึ้นทำให้การอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม นั้นๆ ถดถอยลง
2) พฤติกรรมของบุคคลมีอคติต่อองค์กร ย่อมส่งผลต่อการมีส่วนร่วม เพราะถ้าบุคคลเห็นว่าองค์กรหรือบ้านของตนเองที่อยู่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมแล้วการกระทำใด ๆ ย่อมขัดแย้งและไม่เอื้อประโยชน์ได้ แต่หากการแก้ไขบทบาทของบุคคลให้มีทัศนคติดี มีความกระตือรือร้น มีสมาธิ มีความรับผิดชอบหรือมีพลังเพื่องาน กิจกรรมใด ๆ ที่เขาเหล่านั้นมุ่งจัดการย่อมเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อการกระทำโดยส่วนร่วมได้ง่าย
3) การมีส่วนร่วมของทุกคนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่มีความขัดแย้งหรือมีความ ขัดแย้งแต่พร้อมต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง รับผลของการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำย่อมเป็นทิศทางของการอยากมีส่วนร่วม

ผู้นำมีปัญหา เหตุที่กล่าวถึงกรณีการไม่สามารถบริหารงานได้อย่างดีในการมีส่วนร่วมมีผลมาจากผู้นำในระยะเริ่มต้น อาทิ
1) คนทุกคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตเพื่อความต้องการในปัจจุบันและอนาคตในกรณีต่าง ๆ อาทิ มีความเป็นอยู่บนชีวิตที่ดี (กินดีอยู่ดี) , มีความมั่นคง ปลอดภัยในตนเองและครอบครัว มีความรัก มีหน้ามีตาในสังคม , มีการยอมรับยกย่องนับถือ และมีความสำเร็จในชีวิต เมื่ออยู่ในองค์กรแต่ประสบปัญหากดดันและไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำกลุ่มหรือองค์กรย่อม เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบและเป็นความขัดแย้ง
2) การขาดแรงจูงใจในการนำไปสู่ความสำเร็จของงาน เหตุด้วย ผู้นำขาดภาวะการเรียนรู้ ไม่มีความชำนาญ ไม่มีความเชื่อมั่นตนเอง หรือมีโรคภัยเบียดเบียน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลทางจิตใจต่อการมีส่วนร่วมและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
3) ผู้นำขาดมนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ หย่อนคุณธรรม และทักษะการเรียนรู้จากงาน เป็นผลให้ไม่สามารถเข้ากับบุคคลได้อย่างดี ทำให้การนำเสนอความต้องการหรือการตัดสินใจเพื่อกลุ่มหรือส่วนร่วมเป็นไปได้โดยยากหรือไม่เหมาะสม

การบริหารงานการมีส่วนร่วม เป็น การบริหารที่ทุกคนในองค์กรหรือต่างองค์กรได้มีโอกาสจัดกระทำการงานตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิตามประสงค์ที่ต้องการ ผู้นำในการบริหารแบบมีส่วนร่วมจึงต้องเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี มีทักษะในงานและความฉลาด มีความสามารถในงานและการตัดสินใจ มีมนุษยสัมพันธ์และคุณธรรมในการปฏิบัติงาน และมีความสามารถในบทบาทของตนเองอย่างดี กระบวนการบริหารจึงจะบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการได้ด้วยดี
การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการบริหารราชการ

นิยามของการมีส่วนรวมของประชาชน ระบบราชการมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการดำเนินงานทางการบริหาร หรือการดำเนินกิจการของรัฐ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง (ประชาชน) การมีส่วนร่วมทางตรง จะเห็นได้จากการที่ประชาชนสามารถตัดสินใจทางเลือกเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะหรือเข้าร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ของรัฐในแต่ละสาขา หรือการลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ หรือการเข้าร่วมเป็นกรรมการในการดำเนินงาน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับการจ้าง หรือการกำหนดราคาการจ้างต่าง ๆ ได้ สำหรับการมี ส่วนร่วมทางอ้อม ก็คือการที่ประชาชนสามารถเสนอความคิดความเห็นผ่านเครือข่ายหรือกลุ่มตัวแทนต่าง ๆ และทั้งการให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการผ่านสื่อใด ๆ อาทิ วิทยุ , โทรศัพท์ , เว็บไซต์ หรือจดหมายข่าว


การบริหารราชการเชิงการพัฒนาที่มุ่งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถพิจารณาได้ในแนวทางดังนี้

1) มีการเปิดเผยข้อมูลและโปร่งใสในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานโดยมีช่องทาง เพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางต่อประชาชนและเข้าถึงได้โดยสะดวก
2) มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เปิดช่องทางเพื่อการนี้อย่างจริงจัง
3) มีระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ได้จากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงาน , การให้บริการ และการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ หรือนโยบายอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือประโยชน์ของประชาชนอย่างชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบและรายงานผลการดำเนินการเชิงสรุปเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
4) เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม (เอกชน , ประชาชน และเครือข่ายต่าง ๆ) ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาในกิจกรรมกระบวนงานของหน่วยงานสำหรับการกำหนดทิศทางแห่งนโยบาย และกิจกรรมสาธารณะ ที่กระทบต่อประชาชนหรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
5) ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในส่วนราชการ โดยสามารถเข้าถึงในการจัดกระบวนการหรือกลไกต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมในการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงาน หรือผลสำเร็จของการทำงานของหน่วยงานราชการได้

กรมโยธาธิการและผังเมืองกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในภาพรวมของภารกิจหลัก ๆ
จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่กรมได้กำหนดไว้ คือ การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและการพัฒนา ความปลอดภัยในอาคาร การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและชุมชน
และการพัฒนาระบบการบริหารงานให้มีความเป็นเลิศ ซึ่ง ทั้ง 4 ประเด็นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้และส่งผลต่อประชาชนแทบทั้งสิ้น การดำเนินงานในกิจกรรมหรือเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อสนองตอบตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ สามารถเห็นภาพของการให้โอกาสหรือยอมรับว่ามีประชาชนหรือภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในกิจกรรมหรือขั้นตอนต่าง ๆ ยังไม่ขยายวงกว้างให้สอดคล้องต่อหลักการการบริหารเชิงการพัฒนา อาทิ การวางผังเมือง การควบคุมอาคาร และการจัดรูปที่ดิน ซึ่งเป็นภารกิจที่มีกฎหมายรองรับและต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้และในหลาย ๆ ขั้นตอนซึ่งกำหนดโดยแนวปฏิบัติตามกฎหมาย ประชาชนหรือองค์กรเอกชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถมาร่วมในการพิจารณา , นำเสนอ และให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าการพิจารณา การนำเสนอหรือการให้ ข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยที่ถูกนำไปสู่การได้รับการตัดสินใจ เพื่อการปรับปรุง แก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงแห่งเหตุสาระของการงานที่เกิดขึ้นในกระบวนงาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดผ่านแห่งการพัฒนา เพื่อความสำเร็จของงานในอนาคตต่อไปอย่างดี

ความสำเร็จของการมีส่วนรวมภาคประชาชนในฐานะองค์กรของรัฐจะต้องเร่งรัดและปรับปรุง การจัดการบริหารเพื่อก่อผลแห่งการพัฒนา กล่าวคือ

** องค์กรต้องมีคณะทำงานเพื่อการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและประสานการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและวิเคราะห์สถานภาพแห่งภารกิจ ประกอบยุทธศาสตร์การบริหารและงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกระบวนงานที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมที่ดี

** ช่องทางของการเข้าถึง ซึ่งข้อมูลและข่าวสารใด ๆ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนและมีหลายช่องทางที่จัดกระทำได้ และต้องมีการประชาสัมพันธ์ทิศทางการเข้าหาหรือเข้าถึงอย่างเป็นรูปธรรมโดยต่อเนื่องพร้อมทั้งแสดงผลจากการมีส่วนร่วมด้วยความน่าเชื่อถือ เชิงผลแห่งการกระทำจริง และสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น


‏ ** องค์กรต้องเปิดโอกาสเพื่อการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในคณะทำงานหรือคณะกรรมการหรือกลุ่มใด ๆ อย่างกว้างขวางทั้งภาคเอกชน , ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียตามภารกิจนั้น ๆ ทั้งนี้จะเป็นการเข้ามาทั้งทางตรง และทางอ้อมก็ได้ โดยปราศจากการปิดกั้น

** องค์กรต้องฟังความเห็น , ข้อเสนอ , ข้อมูล หรือแนวทางการตัดสินใจของประชาชน หรือ แนวปฏิบัติให้มากที่สุดทั้งนี้ต้องจัดกระทำโดยปราศจากอคติหรือบนเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง อันรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถชี้แจง หรือประกอบเหตุผลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางในเวทีที่สามารถกำหนดได้

** องค์กรต้องรวบรวมผลแห่งความมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมบทสรุปทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้งเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าความเห็นเหล่านั้น อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กร หรือของรัฐก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้มองเห็นความจริงใจและเป็นช่องทางต่อการนำเสนอหรือติดตามผลในลำดับต่าง ๆ

การบริหารแบบมีส่วนร่วมภาคประชาชน เป็นความยุ่งยากและมีความซับซ้อนอย่างมากสำหรับ ผู้บริหารขององค์กรเชิงปฏิบัติ ความสำเร็จในกิจกรรมหรือภารกิจใดที่สามารถน้อมนำความคิดเห็น ข้อเสนอ ของประชาชนมาจัดการได้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จสุดยอด การดำเนินงานเพื่อการบริหารดังกล่าวจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภายในองค์กรต่างองค์กร และประชาชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องหรือมิได้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มี ความคิดเห็น กระบวนการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจเพื่อการใด ๆ ที่สามารถขจัดความขัดแย้ง ความเคลือบแคลงสงสัย ปัญหาหรืออุปสรรคที่เป็นปัจจัย จึงเป็นเป้าประสงค์ที่องค์กรแห่งรัฐตั้งความหวัง เพื่อการดำเนินงานอย่างสูงสุดในอนาคต

เทคนิคการสอบ

เทคนิคการสอบ

เทคนิคการสอบ
การเตรียมตัวก่อนสอบ
- ศึกษาและทบทวนบ่อย ๆ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ การดูหนังสือวินาทีสุดท้าย เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด
- อ่านสมุดที่จดบันทึกไว้อย่างตั้งใจ ขณะที่อ่านไปให้นึกถึงคำถามที่อาจจะมีขึ้นแล้วลองตอบ
- ทบทวนอย่างมีจุดประสงค์อยู่ในใจ การทบทวนชนิดเปิดสมุดอย่างสุ่ม จะไม่มีประโยชน์ แต่ให้ทบทวนหลักการ (concept) พื้นฐาน และจุดสำคัญของเนื้อหา
- ลองดูหนังสือทบทวนกับเพื่อน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนคำถาม คำตอบ แต่ถ้าคิดว่าตนเองไม่เหมาะกับการทบทวนวิธีนี้ ก็ควรอ่านทบทวนเฉพาะตนเอง
- ลองสอบถามรุ่นพี่ ๆ เพื่อทราบลักษณะการออกข้อสอบของอาจารย์ (ปรนัย, อัตนัย, ระยะเวลา) นอกจากนี้ ควรหาข้อสอบเก่า ๆ หรือสอบถามรุ่นพี่ว่าอาจารย์เ**ถามอะไรบ้าง หากมีข้อสอบเก่า ให้นักศึกษาลองฝึกตอบคำถามดูและควรต้องตอบภายในเวลาที่กำหนด (เหมือนเช่น การลองทำข้อสอบเก่าในการสอบเอ็นทรานซ์)
- พักผ่อนให้เต็มที่ก่อนวันสอบ ไม่ใช่ดูหนังสือจนสว่าง เพราะจะมีผลทำให้สมองของนักศึกษาทำงานได้ไม่เต็มที่
-1 สัปดาห์ก่อนกำหนดสอบไล่ ควรจะได้ตรวจสอบเกี่ยวกับวิชาสอบ วันเวลาที่สอบ สถานที่สอบให้แน่นอน มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไปสอบผิดวิชา ผิดวัน
- คืนก่อนสอบ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อาจทบทวนอีกเล็กน้อย ไม่ใช่มาเริ่มอ่านสิ่งใหม่ ๆ ในคืนนี้
- อย่าเครียด ! ทำจิตใจให้สบาย ถ้านักศึกษาเตรียมตัวมาดีแล้ว ไม่ควรจะกังวลต่อสิ่งใด แต่หากเตรียมตัวไม่ดีพอ ความกังวลนี้จะยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายหนักเข้าไปอีก
- ในวันสอบ ควรไปถึงห้องสอบก่อนเวลา แต่อย่าไปถึงก่อนเวลามากเกินไปนัก

ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการสอบ

ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการสอบ
- ตั้งใจอ่านคำสั่งให้ : นักศึกษาบางคนทำข้อสอบจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงหัดมาอ่านคำสั่ง และพบว่าสิ่งที่ตนเองทำไปนั้นผิดไปจากคำสั่งที่ปรากฏ นอกจากนี้นักศึกษาจะต้องใส่ใจกับอาจารย์ผู้คุมห้องสอบด้วย เพราะบางครั้งมีการเติมข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สอบ หรือมีการแก้คำผิดหรือการบอกให้เติมคำตอบในกระดาษพิเศษที่แยกต่างหากออกไป
- เลือกข้อสอบอย่างระมัดระวัง : อ่านข้อสอบอย่างระมัดระวังทั้งหมด และเลือกตัดสินใจว่าจะทำข้อใดก่อน
- พิจารณาดูถึงความต้องการของอาจารย์ที่จะให้ท่านตอบ เช่น “อธิบายพอสังเขป” “อธิบายพอสังเขป” “อธิบายอย่างละเอียด” “จงให้ความหมาย” จงเปรียบเทียบ “จงวิเคราะห์” เป็นต้น
- ระมัดระวังเรื่องระยะเวลาที่กำหนด : อย่าเสียเวลามากในการทำข้อสอบบางข้อ ท่านจะต้องแบ่งเวลาสอบแต่ละข้อให้ดี โดยดูจากคะแนน นอกจากนี้ควรมีเวลาสำหรับการตรวจดูความเรียบร้อยก่อนส่งกระดาษคำตอบ
- วางโครงร่างเนื้อหาที่ท่านจะตอบ : ก่อนตอบคำถามแต่ละข้อพยามยามนึกถึงประเด็นสำคัญ จดประเด็นเหล่านั้นลงในขอบกระดาษคำตอบอย่างเป็นระเบียบ เพื่อที่เวลานักศึกษาบรรยายคำตอบจะได้ไม่หลงลืมประเด็นสำคัญที่ควรจะตอบเหล่านี้ อีกทั้งในกรณีที่หมดเวลา อย่างน้อยนักศึกษาก็แสดงให้อาจารย์ได้ทราบถึงความรู้ที่นักศึกษามี แต่ตอบไม่ทัน นักศึกษาอาจจะได้คะแนนเพิ่มมาบ้างก็ได้
- เขียนให้อ่านออก : เขียนให้เร็ว แต่ต้องให้อ่านออก การเขียนขยุกขยิก เขียนอ่านยาก ทำให้อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบต้องมานั่งสะกดว่านักศึกษาเขียนอะไรบ้าง ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
- ตอบให้ตรงประเด็นคำถาม : อย่าบรรยายชนิด “น้ำท่วมทุ่งหาผักบุ้งไม่เจอ” สิ่งที่อาจารย์ต้องการคือ คุณภาพของคำตอบ ไม่ใช่ปริมาณความยาวของคำตอบ การเขียนบรรยายมากมาย แต่ไม่เน้นประเด็นคำตอบให้ดี แสดงว่านักศึกษาไม่รู้คำถามนั้นหมายถึงอะไร ต้องการคำตอบอะไร และควรระมัดระวังเรื่องภาษาด้วย ควรเขียนคำตอบโดยใช้ภาษาที่ถูกต้อง การสะกดคำ โดยเฉพาะคำ technical term ที่เป็นภาษาเขียน ต้องถูกต้อง ไม่ใช้คำย่อ (ยกเว้นเป็นที่ยอมรับ)
- อย่ายอมแพ้ : ถึงแม้จะรู้สึก “หมดหวัง” อย่าตกใจ อย่าออกจากห้องสอบ มิฉะนั้นนักศึกษาจะพลาดโอกาสทั้งหมด แต่ถ้านักศึกษาตั้งสติพยายามรวบรวมสิ่งที่พอจะรู้ และนำมาตอบ นักศึกษาอาจจะได้คะแนนบ้าง
- อย่าลืมว่า บางครั้งพอนักศึกษาเริ่มเขียน นักศึกษาอาจจะนึกบางสิ่งบางอย่างออกขณะที่ครั้งเริ่มแรกคิดว่าตัวเองไม่รู้ อย่าออกจากห้องสอบเร็วเกินควร ใช้เวลาที่เหลือให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้แน่ใจว่าได้ทำข้อสอบที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
- การหมดเวลา : ให้เหลือเวลาไว้สัก 10 นาที ก่อนส่งกระดาษหรือหมดเวลา เพื่อที่จะได้ตรวจทานคำตอบและคำสั่งให้ดีเสียก่อน เพื่อแก้ไขสิ่งที่อาจเขียนผิดหรือตกหล่น

เทคนิคการอ่าน
ในการสอนบรรยายของอาจารย์แต่ละท่าน ในแต่ละชั่วโมง อาจจะสร้างอารมณ์และความรู้สึกที่ หลากหลายเกิดขึ้นในตัวนักศึกษา บางครั้งนักศึกษาจะรู้สึกว่าชั่วโมงนี้อาจารย์สอนน่าเบื่อเป็นที่สุด บางครั้งอาจารย์ก็สอนแสนที่จะสับสน บางครั้งอาจารย์สอนน่าสนใจ น่าตื่นเต้น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ … นักศึกษาเชื่อหรือไม่ มักจะมีสาเหตุมาจากตัวนักศึกษาเอง นักศึกษาได้เตรียมตัวพร้อมหรือไม่สำหรับการเข้ารับการบรรยายของอาจารย์ในชั่วโมงนั้น ๆ


SQ3R : Survey (สำรวจ) Question (ตั้งคำถาม) Read (อ่าน)
Recall (ฟื้นความจำ) และ Review (ทบทวน)

PQRST : Preview (อ่านคร่าว ๆ ล่วงหน้า) Question (ตั้งคำถาม)
Read (อ่าน) Summary (ย่อ) Test (ทดสอบ)

PAGE : Prepare (เตรียมตัว) Ask (ถาม) Gather (รวบรวม)
Evaluate (ประเมิน)



ในบรรดาวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักศึกษาจะเลือกวิธีใดก็ได้ที่เหมาะสมกับตนเอง แต่วิธีที่มีผู้นิยมใช้กันมากได้แก่ SQ3R ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

SQ3R
Survey (สำรวจ) :
- สำรวจดูว่าหนังสือเล่มนี้มีหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องอะไร ? ใครเป็นคนเขียน ? มีพื้นฐาน
ความรู้อย่างไร ? พิมพ์เมื่อไร ?
- อ่านคำแนะนำและศึกษาว่าผู้เขียนต้องการเขียนตำราเล่มนี้เพื่อให้บุคคลกลุ่มใดอ่าน
มีจุดประสงค์จะครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ผู้เขียนแนะนำวิธีการอ่านหรือไม่
- เนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงอะไรบ้าง
- อ่านดรรชนี เพื่อหาบทความที่เฉพาะเจาะจง
- มีภาพประกอบ/แผนภูมิหรือไม่
- มีการสรุปย่อแต่ละบทหรือไม่
- มีสัญลักษณ์บ่งชี้ เช่น ขนาดตัวอักษร การขีดเส้นใต้ ลำดับความสำคัญของการจัดวาง
หัวข้อซึ่งบ่งบอกถึงระดับความสำคัญของแต่ละหัวข้อ

Question (ตั้งคำถาม) :
- ก่อนอ่านหนังสือ นักศึกษาน่าจะมีคำถามในใจไว้ล่วงหน้าว่าเราจะอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่ออยากรู้อะไร ? อยากตอบคำถามอะไร ?
- คำถามเหล่านั้น อาจมาจากห้องเรียนหรืออาจมาจากตัวนักศึกษาเองก็ได้

Read (อ่าน) :
อ่านครั้งที่ 1
- อ่านอย่างเร็วพยายามเจาะหาประเด็นสำคัญของแต่ละบท แต่ละหัวข้อ แต่ละย่อหน้า
- อย่ามัวแต่ขีดเส้นใต้ หรือป้ายปากกาสี ควรทำเครื่องหมายด้วยดินสอและเขียนอย่างเบา ๆ
- อย่ามัวแต่จดบันทึกเพราะจะทำให้สมาธิในการอ่านลดลง
อ่านครั้งที่ 2
- อ่านซ้ำอีกครั้ง คราวนี้ทำเครื่องหมายข้อความที่สำคัญ
- รวบรวมประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
- ลองประเมินเนื้อหา (หากเป็นข้อโต้แย้งให้พิจารณาว่าอ่านแล้วดูมีเหตุผลหรือไม่ ข้อมูลที่
บอกในหนังสือดูขัดกับความจริง หรือความรู้ที่นักศึกษาเ**รู้มาหรือไม่)
- สรุปเนื้อหา เพื่อง่ายต่อการรื้อฟื้นความจำในภายหลัง

Recall (ฟื้นความจำ) :
เมื่อสิ้นสุดเนื้อหาของแต่ละบท บันทึกย่อ อย่าย่อชนิดยาวจนเกินเหตุ ซึ่งเป็นการแสดงว่า
นักศึกษายังจับประเด็นไม่ถูกต้อง

Review (ทบทวน) :
- สำรวจดูหัวข้อ (ชื่อ) ของหนังสือ หัวข้อและเนื้อหาโดยย่อของแต่ละบท
- ตรวจสอบว่าเนื้อหาที่มีนั้น ตอบคำถามที่นักศึกษามีไว้ในใจหรือไม่
- อ่านอีกครั้ง เพื่อแน่ใจว่าเราเก็บประเด็นสำคัญของหนังสือได้หมด
- เติมสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง

วิธี SQ3R ดูเสมือนเป็นวิธีที่มีขั้นตอนมากแต่ก็เป็นวิธีที่จัดการอ่านอย่างเป็นระบบ และได้ ผล อย่างไรก็ตามวิธี SQ3R อาจไม่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสือบางเล่ม มีผู้แนะนำเทคนิคบางอย่างที่ใช้กันในระบบคอมพิวเตอร์ได้แก่ "Scan - Search - Save" มาใช้เป็นเทคนิคการอ่านตำรา

Scan (ทบทวน) :
ได้แก่การอ่านเนื้อหาอย่างหยาบ ๆ และรวดเร็ว เพื่อจับใจความว่าหนังสือนี้ประกอบด้วย
บทใดบ้าง มีบทนำ การเรียงลำดับหัวข้อเป็นเช่นใด มีแผนภูมิ รูปภาพประกอบมากน้อยเพียงใด

Search(ทบทวน) :
- หาบทที่มีเนื้อหาตรงกับความต้องการ
- หาคำตอบ เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้
- ทำเครื่องหมาย (ใช้ดินสอ เขียนเบา ๆ)
- ศึกษาเนื้อหาในแต่ละย่อหน้าที่ตรงกับจุดประสงค์

Save(ทบทวน) :
- เก็บข้อมูล เนื้อหา ของโครงสร้างของแต่ละบท
- จดเนื้อหาที่สำคัญ

อัตราความเร็วในการอ่าน
ประสิทธิภาพในการอ่านหนังสือตำรานั้น มีผู้ประเมิน โดยคิดเป็นอัตราของคำต่อนาที ดังนี้
- ถ้าตำรานั้นอ่านยาก ควรใช้เวลา 100-200 คำต่อนาที
- ถ้าตำรานั้นอ่านยากปานกลาง ควรใช้เวลา 200-400 คำต่อนาที
- ถ้าอ่านเพื่อให้ได้เนื้อหากว้าง ๆ ควรใช้เวลา 500-1000 คำต่อนาที
- ถ้าอ่านอย่างรวดเร็ว พอสังเขปควรใช้เวลา 1000-1500 คำต่อนาที

จะปรับปรุงการอ่านให้เร็วขึ้นได้อย่างไร
มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในตำรานั้น ประมาณสองในสามเป็นการเขียนตามหลักภาษาเพื่อให้ถูกต้องตามรูปแบบและไวยากรณ์ มากกว่าที่จะเป็นเนื้อหาที่แท้จริง ดังนั้น ถ้านักศึกษาพะวงต่อการอ่านทุกคำ จะทำให้ความเร็วในการอ่านลดลง การอ่านเร็ว มิได้หมายความว่า ความเข้าใจ และการจดจำเนื้อหาจะลดลง แต่การอ่านไปหมดทุกวรรคทุกตอนจะทำให้ทั้งสายตา และจิตใจของนักศึกษา ต้องพะวักพะวงกับเนื้อหาที่มากเกินควร การอ่านอย่างมีวินัยมีระเบียบจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการอ่านดีขึ้น นักศึกษาอาจลองใช้วิธีการต่อไปนี้

หัดเตรียมตัว
อ่านอย่างกว้าง ๆ เพื่อจับประเด็นของเนื้อหาที่มีอยู่ในหนังสือ (การมีภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาบ้างแล้ว จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาได้เร็วขึ้น)
- อ่านอย่างมีจุดประสงค์ ตั้งใจและพยายามอ่านให้ทันตามเวลาที่เรากำหนด วิธีบังคับตนเองไม่ให้อ่านตามสบายชนิดตามใจตน กระทำได้โดยการลากปากกาหรือดินสอชี้นำไปตามบรรทัด นอกจากนี้จะต้องไม่ให้มีสิ่งใดมารบกวนสมาธิขณะอ่านด้วย
- ละทิ้งนิสัยการอ่านที่ไม่ดี ได้แก่
. หยุดที่คำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ พยายามขยายกรอบของเนื้อหาให้มากขึ้น จะได้เข้าใจ
ประเด็นได้ง่ายขึ้น
. อ่านย้อนกลับไปกลับมา วิธีนี้ทำให้เสียเวลา และมีผลทำให้การเชื่อมต่อข้อความไม่ปะติดปะต่อ ทำให้จำเนื้อหาไม่ได้

พยายามลดความเมื่อยล้าของสายตาโดย
- ตรวจสุขภาพสายตาเสียบ้าง
- ให้หนังสืออยู่ห่างจากสายตาประมาณ 40 ซม. เพื่อขยายกรอบของการมองเห็น และลด
การเคลื่อนไหวของสายตา

ฝึกฝนตนให้เป็นผู้อ่านชั้นเยี่ยม
- มือข้างหนึ่งใช้พลิกหน้ากระดาษ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ลากลงมาตามบรรทัดวิธีนี้จะเป็นการควบคุมสายตา ให้เห็นคำที่จะอ่านในแต่ละครั้งมากขึ้น บังคับมิให้สายตาจ้องจดอยู่ที่คำใดคำหนึ่ง และยังเป็นการฝึกตนเองให้มีวินัยและมีสมาธิในการอ่านอีกด้วย
- กวาดสายตาไปทั่วทั้งหน้ากระดาษภายใน 5 วินาที นักศึกษาอาจจะคิดว่าไม่ได้อ่านอะไรเลย แต่นักศึกษาจะสามารถจับคำสำคัญได้อย่างรวดเร็ว และถ้าหน้าไหนอ่านยากก็อาจกลับมาอ่านอย่างช้า ๆ ได้ในภายหลัง
- ฝึกทำเช่นนี้อย่างน้อยวันละ 5 นาที ภายใน 1-2 เดือน นักศึกษาจะพบว่าตนเองสามารถอ่านได้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

*สุดท้ายก้อขอฝากน้องไว้สักนิดหนึ่ง*การสอบควรใช้สมาธิและความรู้ที่มีอยู่ในสมองออกมาทำงานร่วมกับจิตใจ....สำหรับคนที่มีไม่มีความรู้อะไรกรุณาจำหลักการไว้
1.ใช้หน้าตาเป็นอาวุธคือทำหน้าตาน่าสงสาร แอบแบ้วเอาไว้
2.สำหรับคนที่อยู่ทางภาคเหนือหรือคอยาวนั่นเองใช้คอนี้แหละให้เป็นประโยชน์
3.สำหรับเด็กที่อาจารย์โปรดที่สุดใช้ความสนิทสนมหลอกให้อาจารย์ออกจากห้องจากนั่นก้อ....คิดเอาเอง
4.ถ้าอาจารย์คุมเข้มมากไม่ยอมออกจากห้องให้นัดกับเพื่อนใช้สัญญานมือเอา
5.ถ้าใช้สัญานมือไม่ได้ ต้องใช้สุภาษิต อัตตาหิ อัตโนนาโธ ตนแลเป็นที่แห่งตน

7วิธีที่ทำให้สมองฉลาดขึ้น

7 วิธีที่ทำให้สมองฉลาดขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------

1.ให้สมองทำงาน ตอบสิว่าอะไรคือสิ่งแรกที่คุณจะทำเพื่อพัฒนาสมอง
อุปกรณ์ที่ลับสมองได้ดีที่สุดก็คือ...รองเท้าผ้าใบค่ะ งงล่ะสิ
เมื่อใดที่คุณสวมรองเท้าผ้าใบคุณสามารถกระตุ้นอาการเต้นของหัวใจได้
คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือการออกกำลังกายค่ะมันสามารถช่วยให้ลดการสูญเสียเนื้อเยื่อในสมองได้ค่ะ

2.ให้อาหารสมอง การกินอาหารที่มีโมเลกุลที่สามารถต้านอนุมูลอิสระได้
จะช่วยให้สารอนุมูลอิสระเป็นกลางและไม่ก่ออันตราย
ผักผลไม้ที่มีสีสันมันจะเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับ ถั่วต่างๆ
เมล็ดพืช ธัญพืชและเครื่องเทศ
“อาหารใดกินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายมันก็คืออาหารชั้นยอดของสมองเช่นกัน”

3.เร่งความเร็ว โดยธรรมชาติสมองจะเริ่มทำงานช้าลงเมื่ออายุเริ่มขึ้นเลข3
แต่คนเราไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็สามารถฝึกสมองให้ทำงานเร็วขึ้นได้
สมองของคุณคือกลไกแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราได้รับ
มักผ่านทางคำพูดโปรแกรมการฝึกสมองนี้จึงเกี่ยวข้องกับภาษาและการฟัง
เพื่อให้เกิดการแม่นยำและเร็วขึ้นคุณอาจจะฝึกแยกเสียงก็ได้เหมือนกันค่ะ

4.สงบนิ่ง การลับสมองเป็นเรื่องสำคัญแต่...การสงบนิ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน
ความเครียดในระดับสูงมีผลร้ายต่อเซลล์สมอง ความเครียดจะรบกวนกระบวนการรับรู้
และการจำ ดังนั้นคุณก็ควรจะละความเครียดทั้งหมดมานั่งฝึกสมาธิสงบนิ่งกัน

5.พักสมอง พลังสมองที่ได้จากความสงบนิ่ง คือความคิดสร้างสรรค์
จากการนอนการที่เรานอนหลับไปกับปัญหามันได้ผลจริงๆ ค่ะ

6.หัวเราะบ้าง อารมณ์ขันกระตุ้นส่วนต่างๆของสมอง
ซึ่งสามารถใช้โดปามีนเป็นสารนำส่งความรู้สึกดีให้เกิดขึ้น

7.ยิ่งแก่ยิ่งเก่ง คุณเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า อาบน้ำร้อนมาก่อนไหม
เมื่อวัยของคุณเพิ่มขึ้นคุณได้บันทึกภาพและข้อมูลทางสังคมไว้นับล้านๆ ภาพ
ซึ่งคุณสามารถเรียกใช้ได้ทุกเวลาเลยทีเดียว