วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ธรรมชาติของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์
ในการทำงานกับมนุษย์ เราจะต้องเรียนรู้และพยายามเข้าใจถึง การกระทำและการแสดงของเขาเกิดเนื่องจาก " ความเป็นมนุษย์ที่มี ความต้องการ" เช่นเดียวกัน ซึ่งการศึกษาเรื่องธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์ จะช่วยให้เราเข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น และนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ได้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับมนุษย์ในสังคม อย่างมีความสุข รู้และเข้าใจความมีอยู่เป็นอยู่จริง ตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้เรา สามารถตอบสนองความต้องการ ของผู้อื่นได้ อย่างถูกต้อง อันนำไปสู่การมี ความสัมพันธ์ที่ดี และมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน เราควรระลึกเสมอว่า คนมิใช่สิ่งของ (Man is not a thing ) หรือเครื่องจักร เพราะคนมีอารมณ์ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อ ความคิดเห็น และบุคคลิกลักษณะส่วนตัว ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิต และประสิทธิภาพขององค์การ มนุษยสัมพันธ์จึงเป็นการศึกษาใจคนเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเข้ากับคน เอาชนะใจคน (เสถียร มงคลหัตถี , 2510 : 30) ด้วยเหตุนี้ความสามารถเข้ากับคนได้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิต

" ผู้ที่ล้มเหลวในการดำเนินชีวิตก็เพราะเข้ากับคนไม่ได้ แม้จะมีความรู้ความสามารถสูงสักเพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถเข้ากับคน หรือสังคมได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถ รวมทั้งชีวิตร่างกายจะไร้คุณค่า สิ้นความหมาย และนั่นคือความล้มเหลวของชีวิตของคนเรา "

ในโลกนี้ไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่าคน และในตัวบุคคลไม่มีอะไรจะสำคัญยิ่งไปกว่าจิตใจ ( In the world there is nothing great but man, in man there is nothing great but mind )
การที่มนุษย์มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จะทำให้บุคคลทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีราบรื่นดี และมีความสุข หากสัมพันธภาพเป็นไปในทางลบ ก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีผลให้งานด้อยประสิทธิภาพไปด้วยและอาจจะทำให้เกิดความแตกแยกในที่สุด ดังนั้นจึงควรมุ่งศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล อันจะเป็นผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของมนุษย์ (Ann Ellenson ,1982 : 11)
ธรรมชาติของมนุษย์
ธรรมชาติได้สร้างสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยมีการคัดเลือกพันธ์ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตใดที่มีความสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะสามารถอยู่รอด และถ่ายทอดลักษณะเด่นนั้นๆ ออกมาให้แก่ลูกหลานสืบต่อเผ่าพันธ์ และสามารถดำรงเผ่าพันธ์ตนเองไว้ได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างดียิ่ง มนุษย์จึงยังสามารถดำรงเผ่าพันธ์ของตนไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
โธมาส ฮอบส์ ( Thomas Hobbes ) กล่าวว่า " ธรรมชาติของคนนั้นป่าเถื่อน เห็นแก่ตัว ขี้โม้โอ้อวดตน ต่ำช้า หยาบคาย เอาแต่ใจตัวเอง ยื้อแย่งแข่งดีกันโดยไม่มีขอบเขต อายุสั้น แต่ถ้าพบกับความทุกยากแล้ว คนจึงจะลดความเห็นแก่ตัวลงและสังคมจะช่วยให้เขาดีขึ้น " วิลเลียมสัน (Williamson) ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า " ทุกคนที่เกิดมาเป็นเสมือนผีร้าย "( Every body is evil) แต่ จอห์น ล็อค ( John Lock ) กลับมีแนวความคิดเห็นตรงกันข้ามว่า " มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนดี ไม่ได้มีความเห็นแก่ตัว ส่วนความไม่ดีนั้นเกิดจากสภาพแวดล้อมของเขา " ( กฤษณา ศักดิ์ศรี, 2534 : 94 )นอกจากนี้แล้วนักสังคมวิทยาเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปชอบเรียนรู้ มีความอยากรู้ อยากเห็นอยากดู ชอบที่จะรู้เรื่องของผู้อื่นบางคนรู้จักคนอื่นดีกว่าตนเองเสียอีกเพราะไม่เคยสำรวจตัวเองดูบ้างเลยเพราะโดยทั่วไป คนชอบเรียนรู้เรื่อง ของคนอื่น มากกว่าตนเอง และมีความรู้สึกว่าตนเองรู้จักผู้อื่นได้ดี แต่ถ้าหากมีคำถามย้อนกลับว่า ตัวท่านเองนั้นรู้จักตัวเองแค่ไหน คนๆ นั้นมักจะโกรธ มิใช่เพราะว่าดูถูก แต่ภายใต้จิตสำนึกนั้น คือความไม่รู้จักตัวเองแล้วทำให้รู้สึกมี ปมด้อยเกิดขึ้น
แนวความคิดของนักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
เชื่อว่า คนเรามีลักษณะของความเป็นมนุษย์และสัตว์ผสมอยู่ด้วยกัน และเน้นว่าชีวิตของมนุษย์หล่อหลอมมาจากความต้องการทางร่างกาย แรงขับทางเพศและสัญชาตญาณของความก้าวร้าว นักจิตวิเคราะห์กลุ่มนี้มองมนุษย์ในแง่ของความเป็นสัตว์และความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ กล่าวคือ
คนเรามีลักษณะเหมือนกับสัตว์ในแง่ของความต้องการ อาหาร การขับถ่าย และความต้องการทางเพศ แต่คนแตกต่างไปจากสัตว์ ในแง่ที่ว่าสามารถจะพัฒนาเทคนิคการสื่อความหมายต่างๆ ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งสามารถแยกตนไปจากเรื่องของสัญชาตญาณได้ นั่นคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรม สามารถครอบคลุมพฤติกรรม อุดมคติ การกระทำของตนเองได้
ดังนั้นในแง่ของการวิเคราะห์ทางจิตมนุษย์ พบว่ามีความเป็นสัตว์ แต่มีบางสิ่งที่พัฒนาสูงขึ้นไปกว่าสัตว์ ข้อคิดเห็นของทฤษฎีนี้คือ กล่าวคือ ถ้าจะยอมรับความเป็นมนุษย์ก็ไม่ควรปฏิเสธความเป็นสัตว์ของเขาด้วย เพราะพื้นฐานของพฤติกรรมมีผลมาจากกระบวนการจิตไร้สำนึก ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจที่ไม่รู้ตัว (Unconscious Motivation) ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ความปรารถนาอยากได้สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่มีติดตัวอยู่ในมนุษย์ทุกคน ตลอดถึงความเกลียด ความกลัว อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้เองที่มีส่วนทำให้มนุษย์มีพฤติกรรม ที่แม้แต่ตนเองไม่สามารถเข้าใจตนเองได้ พฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นสามารถพิจารณาได้เป็น 2 แง่มุม กล่าวคือ ในแง่มุมหนึ่ง เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ในลักษณะธรรมดาสามัญ ที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างง่ายๆ ส่วนมุมหนึ่งเป็นความหมายใน สัญลักษณ์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากจิตไร้สำนึก และการกระตุ้นของสิ่งที่เก็บกดอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งสามารถจะเข้าใจได้โดย การวิเคราะห์ทางจิต
เกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้อธิบายโครงสร้างของบุคลิกภาพมนุษย์ว่าประกอบด้วย Id Ego และ Super-Ego
Id เป็นความต้องการในการที่จะแสวงหาความสุขให้กับตนเอง โดยยึดหลัก Pleasure Principle ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม เพียงแต่ขอให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ
Ego เป็นความต้องการซึ่งยังมีการใช้เหตุผล และศีลธรรมเข้ามาร่วมพิจารณาเกี่ยวข้องกับการกระทำต่างๆ ของคนเรา โดยเกิดจากการผสมผสานของ Id กับ Super Ego
Super Ego ได้แก่ มโนธรรม ประเพณี วัฒนธรรม คุณธรรมรวมตลอดถึงความเสียสละต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ตนเองและสังคมสงบสุข
การประสมประสานกันระหว่าง Id Ego และ Super Ego ก่อให้เกิดเป็นบุคลิกภาพ ผลของขบวนการความสัมพันธ์ของภาระหน้าที่ของ Ego (Ego Function) เริ่มมีความสำคัญตั้งแต่ วัยทารก วัยเด็ก ตลอดถึงช่วงที่ตามมาของขั้นพัฒนาการตามขั้นตอนของชีวิต พฤติกรรมที่แสดงออกเป็นผลซึ่งกันและกันของแนวโน้มระหว่าง Id Ego Super-Ego
กลุ่มมนุษยนิยม ( Humanism )
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ เช่น มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) และโรเจอร์ ( Carl R. Rogers ) มีความเชื่อว่ามนุษย์เป็น "Men of play" แต่ละคนมีชีวิตอยู่ในความเปลี่ยนแปลงในโลก มีตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง และปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง และประสบการณ์ต่างๆ และการรับรู้ของเขาจะสร้าง "ตน" ของเขาให้แตกต่างกัน และมนุษย์ทุกคนจะต้องมีคุณค่าและความต้องการความพึงพอใจในตนเอง
ดังนั้นถ้าคนได้รับการตอบสนองตามความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อันได้แก่ ความต้องการทางร่างกาย เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ เช่น อาหาร น้ำ การขับถ่าย ความต้องการทางจิตใจ เช่น การต้องการความรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น ความต้องการความรัก ความภาคภูมิใจในตนเอง ความรู้จักตนและความสามารถที่จะซึ้งในคุณค่าของความเป็นคนได้ ถ้าความต้องการ พื้นฐานเบื้องต้นได้รับการตอบสนอง พฤติกรรมของมนุษย์ จะพัฒนาการในแนวโน้มที่จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานชั้นสูงๆ ต่อไป ด้วยความเชื่อพื้นฐานนี้เอง
นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า ธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์นั้นดี ถ้าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้รับการตอบสนองมนุษย์ก็จะทำแต่ความดี
มนุษย์ทุกคนต้องดิ้นรนหาหนทางตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคน มีชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในโลก ที่มีตนเป็นศูนย์กลางและมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
บุคคลแต่ละคนมีประสบการณ์ของตนเองซึ่งไม่เหมือนใคร เป็นการรับรู้ของตนเองและสิ่งนี้เองก่อให้เกิด ตน( Self ) หรือ " โครงสร้างของตน " ขึ้นมาโครงสร้างของตนนั้นเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเป็นผลจากการประเมินการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
โครงสร้างของตนคือรูปแบบของการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง เช่น บุคลิกลักษณะ ความสามารถ บทบาทต่างๆ ของตนเกี่ยวกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเจตคติและค่านิยมของตนเอง การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยพัฒนาความรู้สึกเกี่ยวกับ "ตน" (Self) ได้ดีขึ้น บิดามารดามี บทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างโครงสร้างแห่ง "ตน" ของแต่ละบุคคล การที่จะรู้จักบุคคลให้ ลึกซึ้ง ต้องพยายามเข้าใจถึง โลกส่วนตัว และประสบการณ์เฉพาะของแต่ละคน Carl R. Rogers นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งของกลุ่มนี้ กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า
มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วเป็นผู้มีเหตุผลสามารถที่จะตัดสินใจด้วยตนเองได้ มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีความดี เชื่อถือและไว้วางใจได้ มนุษย์ยังมีความเฉลียวฉลาดในการปรับตัว และต้องการความเป็นอิสระในการที่จะพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้า
ส่วนแนวโน้มที่จะพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์นั้น Rogers เชื่อว่าลักษณะธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่ติดตัวมา แต่กำเนิดของอินทรีย์ ที่จะพัฒนาความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ทั้งหมด ตามวิถีทางที่จะช่วยให้อินทรีย์คงอยู่ หรือสร้างเสริมให้ดียิ่งขึ้น โดยการปรับตัว การขัดเกลา การพัฒนา การพึ่งตนเอง และการเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้น Rogers ยังเน้นว่า มนุษย์นั้น มีลักษณะดังนี้ (Brammer Lawrence M., 1973 อ้างใน กฤษณา ศักดิ์ศรี , 2534 : 104 - 105)
1. มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์
2. มีแนวโน้มที่จะโต้ตอบความต้องการของตนเอง ไม่เฉพาะเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น เมื่อหิว จะแสวงหาอาหาร แต่การจะเป็นในวิธีที่ไม่ไปทำลายความต้องการด้านอื่น เช่น ศักดิ์ศรี เกียรติยศหากแต่เป็นการแสวงหาอาหารเพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรีและความต้องการด้านอื่นๆ ของมนุษย์
3. มีแรงจูงใจที่กว้างขวางมาก เพราะรวมถึงความต้องการทางสรีระ ความอยากรู้อยากเรียน การแสวงหากิจกรรมที่นำมาสู่ความพึงพอใจ ความเติบโตทางร่างกาย วุฒิภาวะ ความต้องการสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดระหว่างบุคคล ความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ที่จะมีส่วนในการควบคุมสิ่งแวดล้อมและหลีกหนีจากการถูกควบคุม
4. การพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์ โดยอินทรีย์เป็นผู้กระทำ และเป็นผู้เลือกทิศทางของการกระทำ
5. มนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ตามศักยภาพของความสามารถ โดยที่ความสามารถเหล่านี้ จะแสดงออกมาได้ในสภาพที่เหมาะสมเท่านั้น
ส่วน อับราฮัม มาสโลว์ Abraham Maslow นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งในกลุ่มมนุษยนิยมนี้ ย้ำว่าคนเรามีความต้องการที่จะสนอง "ตน" ในด้านความต้องการขั้นต่ำ จนถึงความต้องการขั้นสูงตามลำดับ ความต้องการขั้นต่ำ คือความต้องการที่จะอยู่รอด เช่น ความหิว ความกระหาย ส่วนความต้องการขั้นสูง ได้แก่ ความต้องการที่จะได้รับความรัก ได้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะได้มีเกียรติยศชื่อเสียง ได้ใฝ่หาความรู้ และแสวงหาสิ่งสวยงามไห้แก่ชีวิตเป็นต้น
Maslow ถือว่าการที่คนเราจะพัฒนา "ตน" ให้สมบูรณ์นั้นจะต้องตอบสนองความต้องการตามลำดับขั้นโดยลำดับ จนถึงขั้นที่สามารถ เข้าใจตนเองและโลกโดยถ่องแท้ ( นิภา นิธยายน ,2530 : 42 ) และด้วยความเชื่อพื้นฐานนี้เอง นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงเชื่อว่า ธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์นั้นดี ถ้าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้รับการตอบสนอง มนุษย์จะต้องทำแต่ความดี ถ้ามนุษย์ต้องดิ้นรน และทำสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรมก็เพราะการพยายามหาทางตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้วยวิธีต่างๆ นั่นเอง
คาร์ล อาร์ โรเจอร์ ( Carl R. Rogers ) และ อับราฮัม เอช. มาสโลว์ ( Abraham H. Maslow ) จึงมีความเชื่อที่เหมือนกันว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดีด้วยตนเอง ซึ่งมีมาแต่กำเนิด (Every body is good) ส่วนพฤติกรรมของมนุษย์เป็น ผลผลิตของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
กลุ่มพฤติกรรมนิยม ( Behaviorism )
นักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมเชื่อว่า มนุษย์จะเติบโตขึ้นมาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการจัดกระทำและสภาพแวดล้อม ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาการของมนุษย์ และสร้างพฤติกรรมหรือลดพฤติกรรมมนุษย์ได้นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า "พฤติกรรมมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ" (Caused Behavior) พฤติกรรมและพัฒนาการของมนุษย์สามารถควบคุมและกำหนดได้ตามที่นักปรับพฤติกรรมต้องการได้ เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์เป็น "Mechanical man" นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ Watson , Hull , Skinner, Bandura (กฤษณา ศักดิ์ศรี , 2534 : 107)
Skinner กล่าวว่า "ถ้าหากว่าเขาสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ เขาก็จะสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปตามที่เขาต้องการได้ทุกประการ" เขามีความเห็นว่ามนุษย์มีพฤติกรรมตามสิ่งแวดล้อม ถ้าสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ก็สามารถกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ Skinner ที่ได้ทดลองเรื่องการเรียนรู้ด้วยการวางเงื่อนไขแบบแสดงการกระทำ Operant Conditioning) เขามีความเชื่อว่า พฤติกรรมของบุคคลถูกควบคุมจากผลที่ได้รับ นั่นคือการกระทำใดๆ ก็ตามถ้าได้รับแรงเสริมหรือการเสริมแรง (Reinforcement) จะมีแนวโน้มให้เกิดการกระทำนั้นอีก
ส่วน Bandura ได้อธิบายการเรียนรู้ทางสังคม หรือการเรียนรู้จากการสังเกต หรือการเรียนรู้จากตัวแบบว่า การเรียนรู้แบบนี้เกิดจากการเลียนแบบหรือสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น โดยอธิบายกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมว่ามีขั้นตอนดังนี้ คือ การเรียนรู้ตัวแบบจากสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้และจดจำการกระทำของตัวแบบ ซึ่งผู้เรียนแสดงพฤติกรรมตามที่สังเกตจากตัวแบบ
หลักการเรียนรู้ทางสังคมของ Bandura สามารถอธิบายที่มาของบุคลิกภาพได้ว่าเกิดจากการเรียนรู้ โดยการเลียนแบบหรือสังเกตพฤติกรรมผู้อื่นที่มีอิทธิพลต่อบุคคลผู้นั้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้นพฤติกรรมของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวแบบให้คนได้เรียนรู้ และพัฒนาขึ้นมาเป็นบุคลิกภาพของตนเอง
กลุ่มปัญญานิยม ( Cognitivism )
นักจิตวิทยาปัญญานิยมมีความเชื่อว่า มนุษย์นั้นมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะ มนุษย์มีสติปัญญาหรือโครงสร้างของสติปัญญา ที่สามารถปรับให้เกิด การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมได้ตามระดับวุฒิภาวะหรือความพร้อม นักจิตวิทยาพวกนี้ไม่ปฏิเสธอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้น ก็ปฏิเสธความเป็น "มนุษย์" และความต้องการพื้นฐานของคน
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ มีความเชื่อว่าพฤติกรรมและพัฒนาการของมนุษย์นั้นเกิดตามความสามารถที่มนุษย์จะเรียนรู้ โดยปรับโครงสร้าง สติปัญญา (Accommodation)ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ บรูเนอร์ (Bruner) เลวิน (Lewin) จีน เพียเจย์ ( Jean Piaget ) และลอเรนซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberh) ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์เป็นผลิตผลของการปรับตนในสภาพแวดล้อม Piaget นักจิตวิทยาผู้นำของกลุ่มนี้ได้อธิบายถึงเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาอันเป็นรากฐานของการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ว่า ประสบการณ์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดพัฒนาการทางสติปัญญาขึ้น การพัฒนาด้านสติปัญญา และความคิดจะเริ่มจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างบุคคลและสิ่งแวดล้อม แต่บุคคลมีพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ฉะนั้นพัฒนาการทางสติปัญญาจึงแตกต่าง
สำหรับ Bruner (พรรณี ช. เจนจิต , 2528 : 117 -118 ) มีความเห็นว่า คนทุกคนจะมีพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจใน การเรียนรู้และปรับโครงสร้างทางสติปัญญานั้น ก็โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การกระทำ (Acting) การสร้างภาพในใจ (Imagine) และการใช้สัญลักษณ์ ( Symbolizing ) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
ธรรมชาติของมนุษย์ตามทฤษฎี x ทฤษฎี y
ธรรมชาติของมนุษย์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในความคิดของแมกเกรเยอร์ ( McGregor ) คือทฤษฎี x และทฤษฎี y
ความเชื่อในทฤษฎี x เกี่ยวกับธรรมชาติของคนคือ คนทุกคนไม่มีความรู้สึกอยากทำงาน เกียจคร้านชอบหลบเลี่ยงงาน แสวงหาแต่ความสบาย ฉะนั้นผู้บริหารจะต้องใช้วิธีการบังคับ สั่งการ ควบคุม ดูแลคนงานที่มีลักษณะนิสัยตามทฤษฎี x ให้ทำงาน
ทฤษฎี y มีสาระสำคัญว่า การกระทำของมนุษย์นั้น มิใช่ผลของการบังคับ แต่เป็นการกระทำ อันเนื่องมาจากความเต็มใจ คือมีความรู้สึกอยากทำงานอยากจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเท่าที่เป็นอยู่ มีความรู้สึกสร้างสรรค์ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น

ทฤษฎีZ ( Z theory ) ของ Redin (อ้างใน ศิริโสภาคย์ บูรพาเดชา , 2528 : 67 - 68 ) เชื่อว่ามนุษย์มีความซับซ้อน (Man is a complex man) มนุษย์มีลักษณะทั่วไป ดังนี้
1. เป็นผู้มีความตั้งใจทำงาน
2. ยอมรับทั้งความดีและความชั่ว
3. มนุษย์จะถูกผลักดันจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมให้ทำสิ่งต่างๆ
4. มนุษย์มีเหตุผลเป็นสิ่งจูงใจให้ทำงาน
5. มักพึ่งพาอาศัยกัน และจะต้องติดต่อเกี่ยวข้องกันในสังคม
6. ทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
โดยสรุป ทฤษฎีแซด มีแนวคิดว่า มนุษย์มีลักษณะเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่เลว จะทำสิ่งต่างๆ เพราะได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
ธรรมชาติของมนุษย์ตามหลักของพระพุทธศาสนา
กล่าวถึงมนุษย์ว่า เป็น อินทรีย์พลวัต ( Dynamic Organism) หมายถึง ร่างกายที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ มาตอบสนอง ต่อความต้องการหรือ ความยากต่างๆ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตัณหาหรือความอยากนี้เอง ทำให้คนต้องดิ้นรน พยายามทำทุกอย่างให้ได้มาตามแรงปรารถนานั้น ( วไลพร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม , 2527 : 67 )
มนุษย์ประกอบได้ด้วยขันธ์ห้า ได้แก่ ( สาโรช บัวศรี, 2526 : 11)
1. รูป ( Body ) คือ ร่างกาย หรือส่วนที่จับต้องได้ เห็นได้ หรือจะเรียกว่า เป็นส่วนของเนื้อหนัง
2. เวทนา ( Feelings หรือ Sensation ) คือ ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข รวมเรียกว่าอารมณ์
3. สัญญา ( Remembering ) คือ ความจำ
4. สังขาร ( Thought หรือ Idea ) คือ ความคิด
5. วิญญาณ ( Sensory consciousness ) คือ ความรู้ตัว หรือการรับรู้
ขันธ์ห้านี้ อาจย่นย่อลงเป็นส่วนประกอบของมนุษย์ว่าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
(1) กาย หมายถึง รูปกาย และ
(2) นาม หมายถึง จิต นอกจากนั้นแล้วขันธ์ห้านี้ทำให้มนุษย์เกิดปัญหาเกิดขึ้นอันเป็นอกุศลมูลที่ติดตามตัวเองอยู่เสมอ คือ ความโลภ โกรธ หลง
โดยธรรมชาติมนุษย์มีธรรมชาติอีกประการคือ จะแสวงหาความสุขให้กับตนเอง และต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์ ซึ่งความสุขของมนุษย์แสวงหามีเป็นลำดับดังนี้
1. ความสุขเกิดจากความต้องการทางร่างกาย เช่น การกิน การดื่ม การนอน การร่วมประเวณี
2. ความสุขเกิดจากการสนองความต้องการทางจิตใจ เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ ฟังดนตรี กีฬา เที่ยว เข้าสังคม
3. ความสุขเกิดจากการสนองความต้องการทางปัญญา เช่น เกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ การคิดหาเหตุผลจนสามารถรู้แจ้ง ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย
4. ความสุขเกิดจากการหมดความต้องการ หรือหมดตัณหา อันได้แก่ วิมุตติ วิสุทธิ นิพพาน วิราคะ (สนธิ์ บางยี่ขันและวิธาน ชีวคุปต์ , 2526 : 6)
จากการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ทั้งในแง่ปรัชญา จิตวิทยาในสาขาต่างๆ รวมทั้งพุทธ -ศาสนาแล้ว จะช่วยให้รู้จัก และเข้าใจ มนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเรียนรู้พฤติกรรมและการแสดงออกของมนุษย์เพื่อใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป อย่างไรก็ตาม
มนุษย์มีธรรมชาติโดยทั่วไปที่น่าศึกษาดังต่อไปนี้ ( วิจิตร อาวะกุล , 55 - 56 )
1. มีความอิจฉาริษยา และต่อต้านผู้อื่นที่ดีกว่าตน ดังที่ หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวว่า
"อย่าทำตัวดีเด่น…จะเป็นภัย
เพราะไม่มีใคร…อยากเห็นเราเด่นเกิน"
2. มีสัญชาติญาณแห่งการทำลาย ชอบความหายนะ เช่น ชอบดูไฟไหม้บ้านมากกว่าดูการสร้างบ้าน หรือดูจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันมักมีแต่ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี
3. ต่อสู้ ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง
4. มีความต้องการทางเพศและมีความต้องการด้านร่างกายอื่นร่วมด้วย
5. มีความหวาดกลัวอิทธิพล ผู้มีอำนาจ ภัยต่างๆ ภัยธรรมชาติ ภูตผีปีศาจ ไสยศาสตร์ และจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ตนพ้นภัย
6. กลัวความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความยากลำบาก และความตาย
7. มีความโหดร้ายทารุณ ป่าเถื่อน ชอบซ้ำเติม
8. ชอบทำอะไรตามสะดวกสบาย มักง่าย ไม่ชอบระเบียบบังคับ
9. ชอบความตื่นเต้น หวาดเสียว ผจญภัย ท่องเที่ยว ชอบมีประสบการณ์ในชีวิตแปลกๆ ใหม่ๆ
10. มีนิสัยอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง
นอกจากนั้นแล้ว มนุษย์ยังมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ "มักจะเข้าข้างตนเองเสมอ และไม่ชอบให้ใครตำหนิติเตียนตนเอง" หากมีใครตำหนิก็มักจะหาสาเหตุแก้ตัวให้พ้นข้อครหานั้นๆ "หากแต่ขณะเดียวกันก็มักจะมองเห็นแต่ความผิด…ความไม่ดีของผู้อื่น" อยู่เสมออันเกิดเนื่องมาจาก "แรงขับของการต้องการมีชีวิตอยู่และแรงขับแห่งความก้าวร้าวทำร้ายทำลายผู้อื่น เพียงเพื่อให้คนอื่นและตนเองคิดและรู้สึกว่า "ตนนั้นเป็นผู้ที่มีดีมีความรู้ความสามารถเหนือผู้อื่น" มนุษย์มีธรรมชาติและเป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว ดังคำกล่าวในโคลงโลกนิติที่กล่าวว่า
โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนหนักเท่าภูผา หนักยิ่ง
ปองปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ เดชาดิศร
อาจกล่าวสรุปได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีทั้งดีและไม่ดี นั่นคือ "มนุษย์ทุกคนไม่มีใครดีหมดตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า" หมายความว่า "ไม่มีใครที่ดีพร้อมทุกอย่าง แล้วก็ไม่มีใครเลวหมดไปเสียทุกอย่างจนหาข้อดีไม่ได้เลย" ทุกๆ คนล้วนมีข้อดีข้อด้อยของตนเอง เพียงแต่ข้อดีหรือข้อเสีย ฝ่ายใดจะมากน้อยกว่ากัน ถ้าข้อดีมากกว่าข้อเสียก็จะเป็นคนดี หรือถ้าข้อเสียมากกว่าข้อดีก็เป็นคนเลว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการอบรมเลี้ยงดู และปัจจัยสภาพแวดล้อม ดังคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุ เกี่ยวกับมนุษย์ว่า
"เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง"
พุทธทาสภิกขุ
ดังนั้น ในการคบกันจะต้องยอมรับและคำนึงถึง ความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่าง มีทั้งความดีและความชั่วปนกันไป "จงหัดมองคนอื่นด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง อย่างยุติธรรม ปราศจากอคติทั้งหลาย และพยายามเข้าใจเละยอมรับผู้อื่น อย่างที่เขาเป็นอยู่ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" เราก็จะมีความสุขมากขึ้น
โดยทั่วไปข้อควรคำนึงถึง "มนุษย์"ในสังคม ได้แก่
มนุษย์ไม่มีใครสมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกอย่าง
มนุษย์มีพฤติกรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ
มนุษย์มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด
มนุษย์มีความรู้สึก นึกคิดและมีการรับรู้ เนื่องจากมนุษย์มีขันธ์ห้า สามารถรับรู้สิ่งเร้าทำให้เกิดการตอบสนอง
มนุษย์มีความแตกต่าง อันเกิดมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
มนุษย์มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
มักเข้าข้างตนเองอยู่เสมอ
มีความอยากรู้อยากเห็น
ความแตกต่างของมนุษย์
มนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน "ไม่มีใครเหมือนใคร" แม้แต่ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันและจากอสุจิตัวเดียวกันที่เรียกว่า ฝาแฝดแท้ที่มีรูปร่างหน้าตา เพศเหมือนกัน ยังมีความแตกต่างกันบางประการมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่เหตุและปัจจัยสภาพแวดล้อม มนุษย์มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ กัน ซึ่งกฤษณา ศักดิ์ศรี ( 2534 : 124 - 125) กล่าวว่ามนุษย์แตกต่างกันในเรื่องของ
1. รูปร่าง หน้าตา ท่าทาง (Appearance) มนุษย์ย่อมเลือกเกิดไม่ได้ แล้วแต่บุญนำกรรมแต่ง บางคนสูง บางคนต่ำ บางคนขาว บางคนหน้าตาดี บางคนขี้ริ้วขี้เหร่ บางคนท่าทางสง่างาม บางคนพิการ แต่เขาก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพ และความเป็นคนเสมอกันหมด ฉะนั้นเราควรไม่มีอคติในเรื่องรูปร่าง หน้าตา ท่าทางและการแต่งกายของคนในการสัมพันธ์กัน
2. อารมณ์ (Emotion) มนุษย์มีอารมณ์ต่างกัน บางคนอารมณ์เย็น อารมณ์ร้อน โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย การแสดงออกต่างกัน ทำให้บุคลิกแตกต่างกัน
3. นิสัย (Habit) มนุษย์แตกต่างกันบางคนนิสัยดี ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต แต่บางคนนิสัยใจคอโหดร้าย ไว้ใจไม่ได้ คดโกง อิจฉา ริษยา ฯลฯ
4. เจตคติ (Attitude) หรือ ท่าทีความรู้สึกที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งและแสดงออกแตกต่างกัน เป็นรายบุคคล หรือเป็นหมู่เป็นเหล่า
5. พฤติกรรม (Behavior) ของมนุษย์ต่างกันสุดจะพรรณนา
6. ความถนัด (Aptitude) มนุษย์เกิดมามีความถนัดตามธรรมชาติที่ติดตัวมาต่างกัน ถ้าเขาได้ทำงานที่เขาถนัดจะทำได้ดี ผลงานดี ขวัญการทำงานดี แต่ถ้าให้ทำงานที่ไม่ถนัดจะทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดี ผลงานเสีย หนักใจ กลุ้มใจ และขวัญเสีย
7. ความสามารถ (Ability ) มนุษย์เรามีความสามารถต่างกัน เช่น ด้านร่างกายแข็งแรงไม่เท่ากัน คนที่แข็งแรงกว่าย่อมทำงานหนักตรากตรำได้มากกว่าตนอ่อนแอ ชายแข็งแรงกว่าหญิง หญิงอาจทำงานละเอียด เรียบร้อยกว่าชาย
8. สุขภาพ (Health) มนุษย์ย่อมมีสุขภาพแข็งแรงอ่อนแอไม่เท่ากัน สุขภาพจิตต่างกัน บางคนผอมแห้งแรงน้อย บางคนมีโรคภัยประจำตัว บางคนก็มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
9. รสนิยม (Taste) มนุษย์มีรสนิยมต่างกัน ที่เรียกว่า นานาจิตตัง ฉะนั้น อย่าดูหมิ่นเหยียดหยาม เยาะเย้ย ถากถาง ตำหนิติเตียน เพราะคนเรานั้น มีพื้นฐานต่างกัน อย่าดูถูกกันเราต้องเคารพสิทธิความเป็นคนของเขาที่เขามีสิทธิชอบธรรมที่จะชอบ จะไม่ชอบอะไรได้ และสิ่งนี้เองทำให้คนเรามีรสนิยมต่างกัน
10. สังคม (Social) คนเราย่อมมีสังคมและโลกของเขาที่ชอบอย่างนั้น ประเภทนั้น
ความแตกต่างของมนุษย์ดังกล่าวเป็นสาเหตุให้มนุษย์เกิดขัดแย้งกัน ไม่สามารถเข้ากันหรือสัมพันธ์กันได้ หากขาดความรู้ ความเข้าใจ ไม่ยอมรับกัน เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่เคารพสิทธิไม่ให้เกียรติเคารพนับถือกันและไม่ยอมรับในความแตกต่างกัน
ความแตกต่างของมนุษย์ อาจสรุปได้ว่าประกอบด้วยความแตกต่างทางด้านร่างกาย ความแตกต่างด้านจิตใจ ความแตกต่างด้านอารมณ์ ความแตกต่างทางสังคม และความแตกต่างทาง สติปัญญา
สาเหตุของความแตกต่างของมนุษย์
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุอันแท้จริงที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกัน ควรได้พิจารณาถึงด้านสหวิทยาการ ซึ่งมีแนวคิดถึงสาเหตุที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกัน ดังนี้ (กฤษณา ศักดิ์ศรี , 2534 :128)
1. เชื้อชาติ ทำให้มนุษย์มีรูปร่างหน้าตา สีผิวกาย ผมขน แตกต่างกันไป
2. ศาสนา หล่อหลอมให้มนุษย์มีความเชื่อถือ อบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นมาต่างกัน ต่างคนต่างศาสนา ก็ย่อมต่างความนึกคิดแล้วแต่ว่าศาสนาจะอบรมสั่งสอนอย่างไร
3. การกระทำ ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น คนที่ฝึกหัดให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย หรือท่าทางที่สง่าผ่าเผย ก็จะเป็นผู้มีกิริยาเรียบร้อย สง่าผ่าเผย ส่วนผู้ที่มิได้ฝึกหัดอาจมีพฤติกรรมตรงกันข้าม กระทำตาม Id หรือตามความเคยชินที่ทำอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารมูมมาม เคี้ยวอาหารเสียงดัง
4. วัย ผู้ใหญ่ย่อมมีประสบการณ์ ความสุขุมเยือกเย็น ผ่านชีวิตมามากกว่า จึงแตกต่างกับเด็ก หรือผู้มีวัยอ่อนกว่า เนื่องจากสมรรถภาพ ความนึกคิด วุฒิภาวะต่างกัน
5. ความแข็งแรง การที่บุคคลมีร่างกาย จิตใจ แข็งแรง หรืออ่อนแอ มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ทำให้บุคคลเกิดความแตกต่างกัน
6. การอบรมสั่งสอน บุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมสั่งสอน เลี้ยงดูมาต่างกัน ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างกันได้
7. เพศ หญิงชายย่อมมีความแข็งแรง ความมั่นคง หวั่นไหว ความรู้สึกผิดชอบยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและเชื่อที่ต่างกัน ชายชอบบู๊ ต่อสู้โลดโผน หญิงชอบสวยงามละเอียดอ่อน
8. การศึกษา ความรู้มากหรือน้อยย่อมทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลง และหรือมีความรู้ ความเข้าใจ รู้สึกนึกคิดต่างกัน
9. ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรวยความจนทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันไปหลายอย่าง เช่น ความเชื่อถือ ศรัทธา ความมั่นใจ บุคลิกภาพ ความคิด นิสัยใจคอเปลี่ยนไปเมื่อฐานะเปลี่ยนไป คนจนอาจรู้จักนอบน้อมถ่อมตน แต่คนรวยส่วนใหญ่มีคนนับหน้าถือตามาก ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองสูง
10. ถิ่นกำเนิด คนทางเหนือ ทางใต้ อีสาน ดินฟ้าอากาศ ย่อมมีส่วนหล่อหลอมให้มนุษย์มีบุคลิกภาพและนิสัยใจคอแตกต่างกัน ทางเหนือ อากาศหนาวเย็นสบาย ทำให้คนเมืองเหนือใจดี เป็นมิตรกับคนทั่วไป ทางใต้ต้องผจญกับดินฟ้าอากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ลมพัดแรงและเสียงดัง อากาศร้อน ทำให้คนภาคใต้ต้องทำตนหรือพูดแข่งกับเวลาและเสียงลมทะเล ส่วนใหญ่จึงพูดเร็ว
11. ภาษา มนุษย์ในโลกนี้มีภาษาที่ใช้พูดติดต่อสื่อสารแตกต่างกันหลายร้อยหลายพันภาษา ทำให้มนุษย์ติดต่อกันได้บ้างไม่ได้บ้าง เข้าใจกันได้ไม่สนิทใจ อาจเกิดความรู้สึกขัดแย้งดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามกันได้ การสื่อด้วยภาษาที่แตกต่างกัน เราต้องพยายามทำใจเป็นกลาง มองคนในแง่ดี พราะบางทีการตีความของภาษาไม่ตรงหรือถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้พูด ถ้าผู้ฟังฟังแล้วปักใจเชื่อโดยไม่ไตร่ตรองเสียก่อน มิตรภาพอาจบิดเบือนได้
12. กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี ก็มีส่วนทำให้คนเราแตกต่างกัน เช่น ประเทศทางอาหรับอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้ถึง 5 คน โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เมืองไทยเราถือว่าคนเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย
13. อิทธิพลของกลุ่ม บรรดาพวกมีอิทธิพล อาจทำให้ความคิด ความเชื่อ ความประพฤติปฏิบัติของคนเราแตกต่างไป ถ้าเราอยู่ในกลุ่มอิทธิพลซึ่งมีแนวความคิดดีสร้างสรรค์ เราก็เป็นคนดี แต่หากไปอยู่ในกลุ่มโจรก็กลายเป็นคนไม่ดีตามกลุ่มไป
14. การอาชีพ มีอิทธิพลต่อลักษณะบทบาทและพฤติกรรมของคน อาชีพนักบวชจำเป็นต้องสุขุม เรียบร้อย ขอทานต้องทำกิริยาท่าทางดูน่าสงสาร พนักงานขายต้องพูดมากพูดเก่ง พูดดี

อาจสรุปถึงปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกัน ได้ดังนี้
1. กรรมพันธุ์ (Heredity) คือ สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดา มารดา หรือบรรพบุรุษ
2. สิ่งแวดล้อม (Environment) คือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราและมีอิทธิพลต่อมนุษย์ แบ่งได้เป็น
2.1 สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด ได้แก่ สภาพนับตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดาและสภาพมดลูกของมารดาก่อนคลอด ปัจจัยที่มีอิทธิพลจัดเป็นสิ่งแวดล้อมก่อนเกิดได้แก่ (1) สุขภาพของแม่ (2) อารมณ์ของแม่ (3) อาหาร (4) สารพิษและสิ่งเสพติดที่แม่ได้รับ (5) ทัศนคติของพ่อแม่ต่อการตั้งครรภ์ (6) ฐานะทางเศรษฐกิจ (7) การศึกษา
2.1 สิ่งแวดล้อมขณะเกิด ได้แก่ (1) วิธีการคลอด (2) อุบัติเหตุระหว่างการคลอด
2.3 สิ่งแวดล้อมหลังเกิด ได้แก่ (1) การอบรมเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน (2) การศึกษาที่ได้รับ/โรงเรียน (3) สื่อมวลชน (4) กลุ่มเพื่อน
3. กรรม / การกระทำ (Action) คือการกระทำของบุคคลซึ่ง แบ่งเป็น
3.1กรรมเก่า หมายถึง ผลของการกระทำของตนเอง หรือผู้ให้กำเนิด อันรวมทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นตามพันธุกรรมก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า เช่น ลูกพิการเพราะพ่อหรือแม่ติดเชื้อกามโรค ก็ถือว่า พ่อหรือแม่สร้างกรรมไว้ให้เกิดแก่ลูก ลูกได้รับกรรมเก่าของตัวเองโดยพ่อหรือแม่ หรือเมื่อเด็กซนจนเกิดอุบัติเหตุ ตอนหลังเป็นผู้ใหญ่แล้วเป็นคนพิการ ก็เพราะกรรมเก่าเมื่อเป็นเด็กได้ทำไว้ คนที่เรียนหนังสือไม่เก่งเพราะเมื่อก่อนนั้นไม่เอาใจใส่ ไม่ขยัน ไม่ตั้งใจเรียน ได้แต่เที่ยวเตร่ เล่น สนุกสนาน ทำอะไรตามใจตัวเอง เลยทำให้พื้นฐานของวิชาการต่างๆ อ่อนมากรวมทั้งนิสัยการเรียนการหาความรู้เสียไป คือไม่สนใจค้นคว้าหาความรู้ พอขึ้นมาเรียนในชั้นสูงๆ ก็รู้สึกจะไปไม่รอด เรียนได้ไม่ดีเกิดมีความคับข้องใจและท้อใจ
3.2 กรรมใหม่ หมายถึง การกระทำของมนุษย์เราในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะส่งผลที่ทำให้คนเราแตกต่างกัน (กฤษณา ศักดิ์ศรี, 2534 : 126 - 127)
ขอขอคุณhttp://www.novabizz.com/NovaAce/Subconscious.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น